Last updated: 24 ก.พ. 2565 | 363 จำนวนผู้เข้าชม |
ไมเกรนเป็นโรคที่เรื้อรังและค่อนข้างรบกวนชีวิตประจำวันของแต่ละคนอยู่ไม่ใช่น้อย บางคนอาการน้อยรับประทานยาเวลามีอาการอาจจะหาย แต่บางคนใช้หลายวิธีก็ไม่หายปวดหัวเสียที การรักษาไมเกรนจึงเป็นสูตรผสม ที่ประกอบไปด้วยหลายวิธีและหลายกลไกในการช่วยกันออกฤทธิ์ แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงวิทยาการใหม่อีกอย่างหนึ่งที่กำลังเป็นที่น่าสนใจสำหรับเป็นทางเลือกในการรักษาไมเกรนในปัจจุบัน นั่นก็คือวิธีรักษาไมเกรนด้วยการฉีดโบท็อกซ์นั่นเอง
วิธีรักษาไมเกรนด้วยการฉีดโบท็อกซ์คืออะไร?
อันดับแรกเราต้องรู้จักโบทูลินั่ม ท็อกซิน หรือโบท็อกซ์ ที่นำมาใช้ในปัจจุบัน นั่นก็คือสาร Botulinum Toxin A จากเชื้อ Clostridium botuninum ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตชั่วคราว ทางการแพทย์จึงสกัดสารเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคที่เกิดจากความตึงเกินไปของกล้ามเนื้อได้หลายโรค เช่น โรคกล้ามเนื้อหดเกร็งหลังจากอุบัติเหตุ โรคใบหน้ากระตุกจากเส้นประสาทโดนกดทับ รักษาริ้วรอยบนใบหน้า และล่าสุดคือการใช้รักษาไมเกรนโดยการฉีดเข้ากลามเนื้อ
โบท็อกซ์รักษาไมเกรนได้อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์การรักษาโรคไมเกรนของโบท็อกซ์ เกิดจากทฤษฎีของไมเกรนที่ถูกกระตุ้นโดยการหดรัดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวตา กล้ามเนื้อหน้าผาก กล้ามเนื้อขมับ กล้ามเนื้อท้ายทอย หรือกล้ามเนื้อที่บ่าสองข้าง เวลาเราทำงานหนักหรืออ่อนล้า กล้ามเนื้อเหล่านี้จะหดเกร็งค้างและกระตุ้นให้มีอาการของไมเกรนตามมาได้ง่ายขึ้น การฉีดโบท็อกซ์จะช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเหล่านี้ ทำให้กล้ามเนื้อไม่หดตัว สามารถลดปัจจัยของสิ่งกระตุ้นการเกิดไมเกรนได้ค่อนข้างดี หลายคนจึงไม่มีอาการของไมเกรนไปชั่วระยะหนึ่งเลยทีเดียว
ข้อเสียของโบท็อกซ์
วิธีรักษาไมเกรนด้วยโบท็อกซ์นั้น มีข้อพึงระวังที่สำคัญคือการฉีดไม่ให้โดนเส้นประสาทสำคัญ เพราะอาจทำให้เส้นประสาทพิการ มีโอกาสเกิดอาการหน้าเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ชาหรือปวดบริเวณใบหน้าถาวรได้ วิธีหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้อาจทำได้โดยการฉีดโบท็อกซ์รักษาไมเกรนโดยผู้ที่มีประสบการณ์ รู้ทางเดินของเส้นประสาทแต่ละเส้นที่วิ่งผ่านใบหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน ปกติการฉีดโบท็อกซ์เพื่อรักษาไมเกรนจึงทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทเท่านั้น
วิธีรักษาไมเกรนด้วยโบท็อกซ์เป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลและมีหลายหลักฐานงานวิจัยยืนยันถึงประสิทธิภาพ แต่กระนั้นการรักษาโรคไมเกรนด้วยวิธีใดควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อรักษาให้เหมาะสมกับสาเหตุของการเกิดโรคจึงจะทำให้มีโอกาสปลอดอาการของไมเกรนได้เป็นระยะเวลานาน และทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นอีกด้วย
21 ก.ค. 2567
22 ก.ค. 2567
21 ก.ค. 2567